จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้เล่าสืบขานกันมาว่า เดิม บ้านย่อ เรียกว่า บ้านเผ่าญ้อ สืบเนื่องมากจาก ก่อนปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ชนเผ่าญ้อ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดลำปาง และ ชนเผ่ากุลา อาศัยอยู่ในเขตเมืองหงสาวดี ประเทศพม่า อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ จนมาถึงพื้นที่อีสานตอนล่าง และพบ ดงลำขวง ซึ่งเป็นดงขนาดใหญ่ มีสัตว์ป่ามากมาย และมีดินน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก ชนเผ่าทั้งสองจึงได้สร้างหลักปักฐานอยู่ที่ดงลำขวงแห่งนี้ และเนื่องจากชนเผ่าญ้อมีจำนวนมากกว่าชนเผ่ากุลา ทำให้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ใหม่ว่า บ้านเผ่าญ้อ มีผู้คนเรียกคำว่า ญ้อ เพี้ยนจนกลายเป็นคำว่า ย่อ จึงเรียกว่า บ้านย่อ
ต่อมามีผู้นำเอาหลักคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ ชาวบ้านมีจิตศรัทธา จึงได้สร้างวัดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ มีหลักฐานปรากฏเป็นสิมโบราณ ที่ธรณีสงฆ์ ใกล้กับศูนย์เด็กเล็กในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ศาสนสถานที่แต่เดิมทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ชาวบ้านได้ย้ายมาสร้างอุโบสถถัดเข้ามาทางทิศตะวันตก (ที่ตั้งวัดปัจจุบัน) ของสถานที่เดิม และค้นพบพระพุทธรูป (พระเจ้าใหญ่) เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร สร้างจากดินโป่ง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทางไปทำการค้าทางน้ำ (บ้านสิงห์ท่า) ในสมัยนั้น ประดิษฐานอยู่ที่โล่งแจ้ง ชาวบ้านได้บรูณะให้ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันสร้างพระอุโบสถครอบพระพุทธรูปไว้
การศึกษาภายในวัด
เปิดสอนแผนกนักธรรม ตรี – เอก และแผนกบาลี
ปูชนียสถานและเสนาสนะภายในวัดประกอบไปด้วย
๑. พระประธานในวัด พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร
๒. พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร
๓. รูปเหมือนหลวงปู่ดาว มีขนาดเท่าองค์จริง หล่อด้วยทองเหลือง
๔. เจดีย์อัฐิพระอุปัชฌาย์ลอด (พระอุปัชฌาย์รูปแรกของวัด)
๕. พระอุโบสถหลังปัจจุบัน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙
๖. ศาลาการเปรียญ ปัจจุบันเป็นหลังที่ ๓
๗. กุฏิสงฆ์ ๑๔ หลัง
๘. ศาลาบำเพ็ญกุศล ๑ หลัง
๙. ศาลาบูชาคุณ ๑ หลัง
๑๐. หอระฆัง ๑ หลัง
๑๑. ฌาปนสถาน ๑ หลัง
ข้อมูลจาก : ปักหมุดเมืองไทย